ช่วงหลายเดือนมานี้ ที่บริษัทมาร์เวลิค ได้รับการติดต่อเข้ามาเยอะพอสมควร เพื่อให้ทำเสนอราคา จาก Requirement ที่คนติดต่อส่งมาให้ มากจนผิดปกติ ซึ่งในนี้ก็มีทั้งคนที่สนใจจริงๆ และเป็นบริษัทรับทำเว็บ ซึ่งรู้จักเราว่าเราเป็นอันดับหนึ่ง ที่เชี่ยวชาญ Joomla! ในประเทศไทย ประเด็นจะหยิบมากล่าวถึงคือในส่วนของบริษัทรับทำเว็บ ก็จะมีทั้งที่ติดต่อและบอกมาตรงๆ ว่าต้องการสับงานมา หรือบอกว่าลูกค้าคือใคร ที่ต้องการให้เราประเมินราคา แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นแบบทำเนียน บอกว่าจะใช้เอง เพื่อที่จะเอาราคาและรายละเอียดที่เราวิเคราะห์ไปว่าจะต้องใช้อะไรบ้าง ไปลอกหรือบวกเพิ่มเพื่อเสนอให้ลูกค้าของเขาอีกที หรือไม่ก็ใช้เสนอราคาของเราเป็นบริษัทคู่เทียบ เพื่อให้การจัดจ้างของเขาสมบูรณ์
กรณี Subcontract
ในกรณีของการติดต่อมาเพื่อ Subcontract งานส่วนของ Web (ซึ่งเราก็จะเลือกใช้ CMS ที่เหมาะกับ Requirement นั้นๆ) ก็จะมีหลายลักษณะ
- ก่อนที่เขาจะได้งานนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีส่วนของงานที่เป็น Product ของเขาเอง และต้องการให้เราทำงานใน Part ที่เขาไม่ถนัดหรือต้องพัฒนาให้มา integrate กับ Product ของเขา ซึ่งกรณีแบบนี้ก็คล้ายๆ การเป็น Partner เพื่อทำงานร่วมกัน แต่ก็คงต้องดูเป็นกรณีๆ ไป โดยอาจจะดูจากความน่าจะเป็นของโครงการว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เราเองก็จะได้ไม่เสียเวลาเปล่า กับการไปวิ่ง Present ร่วมกับตัวปลอม!
- ติดต่อเราหลังจากที่เขาได้งานนั้นๆ มาแล้ว และบังเอิญเนื้องานนั้นใช้ Joomla! น่าจะเหมาะสุด (อาจจะรู้จากคนวาง TOR ว่าเขาตั้งใจที่จะเป็นตัวไหน) กรณีนี้มีความง่ายและความน่ากลัวอยู่คือ งบประมาณที่เขาเสนอไป กับเนื้องานที่ต้องทำ มันเหมาะสมกันหรือไม่ ถ้าเราไปเจอบริษัทที่ไม่เข้าใจ Joomla! หรือไม่เข้าใจธุรกิจการพัฒนาโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ อาจจะคิดว่าถ้าใช้ OpenSource แล้วมันจะต้องถูกๆ หรือไม่ก็ฟรี โดยไม่ได้ดูเนื้องานละก็ บอกได้คำเดียวว่า นรก ครับ บางงานเราก็ต้องปฏิเสธไปว่าทำไม่ได้ในงบประมาณที่เขาเจียดให้ แต่ไม่ใช่ว่า Joomla! จะทำไม่ได้ OpenSource ตัวอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคนที่เชี่ยวชาญตัวนั้นจริงๆ ก็จะรู้ว่าทุกอย่างทำได้หมด อะไรที่ยังไม่มีก็พัฒนาเป็น Plugin / Extension ออกมาเพื่อรองรับงานนั้นๆ ได้ ก็เหมือนกับเราพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ แต่ใช้ Base บน OpenSource ก็จะเขียนโค้ดได้สั้นลง ทำงานดีขึ้น เป็นระบบมากขึ้น
การรับช่วงงานจากบริษัทอื่น ที่ต้องคำนึงหรือระวังก็คือเรื่องการจ่ายเงิน (ค่าจ้างเรา) ซึ่งถ้าเราไปเจอบริษัทโหดๆ หน่อย ก็จะใช้วิธีการดึงเงิน ในหลายๆ รูปแบบเช่น ช่วงวันรับวางบิลล์ จากวันรับวางบิลล์เครดิตยาวไปอีกแค่ไหน รอบวันรับเช็ค สารพัดวิธีที่เขาจะดึงการจ่ายเงินเรา เขาเองอาจจะเก็บเงินจากลูกค้ามาแล้วก็ได้ หรืออาจจะเจอลูกค้างอแงก็ได้เช่นกัน แต่ก็ไม่เกี่ยวกับเรา ส่วนของเราคือเนื้องานที่เราทำว่าเราทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ตกลงกันไว้แล้วหรือยัง ถ้าครบแล้วก็ต้องจ่าย อันนี้ล่ะครับที่หลายๆ บริษัทอาจจะไม่ได้ทำในส่วนของสัญญาขอบเขตของงาน อาจจะเซ็นต์กันแต่ใบสั่งซื้อ การยืนยันกันก็จะยากขึ้น บางทีอาจจะโดนงานเพิ่มเข้ามา โดยเอาเรื่องรับวางบิลล์มาเป็นตัวบีบ เช่น ถ้าไม่ทำอันนี้ให้ก็ไม่รับวางบิลล์งวดนี้ อะไรทำนองนี้ครับ
องค์กรใหญ่ๆ มักใช้วิธีเรียกไป Present เพื่อดูไอเดีย
นอกจากการนำเสนอหรือเสนอราคากับคู่ค้าแล้ว สิ่งที่เราจะเจอกันได้บ่อยๆ คือ องค์กรใหญ่ส่งโจทย์มาเพื่อให้เราเสนอโซลูชั่น (scope ให้อยู่ในเรื่องของ WebApp นะครับเดี๋ยวมันจะกว้างเกินไป) ซึ่งโจทย์ที่เราจะได้รับกันบ่อยๆ ก็คืออยากปรับปรุงเว็บใหม่ แล้วก็เรียกให้เราไปนำเสนอ ซึ่งเขาก็จะเรียกไปหลายๆ ที่ให้ไปนำเสนอกับคณะทำงานของเขา เท่าที่เจอๆ มาผมแยกแยะออกเป็นมาได้ดังนี้
- ไม่เคยคิดที่จะจ้าง แต่อยากได้ไอเดีย เพื่อมาทำกันเอง ซึ่งเดิมเขาอาจจะหัดใช้ Joomla! และ Implement เองอยู่แล้วเพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงหลอกให้ไปนำเสนอ โดยไม่ต้องจ่ายค่าที่ปรึกษา (เคสนี้ผมโดนกับตัวเอง กับ ธนาคารแห่งหนึ่งแถว ถนนรัชดาภิเษก) ซึ่งวิธีการให้แนบเนียน ก็อยู่ที่ความเจนจัดของทางเขา ถ้ายังไม่ได้ข้อมูลครบ ก็จะหยอด โปรยข้าวเปลือกล่อ (อย่างกับไก่) เหมือนว่าจะเลือกเราแล้ว ในการประชุมกันแต่ละครั้งบางทีใช้เวลาครึ่งวัน หรือเกือบทั้งวันก็มี
- ต้องการไอเดีย เพื่อเอาไปให้อีกบริษัทหนึ่งที่เขาใช้งานอยู่
- ยังไม่ได้โครงการรจะทำจริงๆ เพียงแต่ฝ่ายไอที อยากศึกษาไว้ เผื่อไว้คุยกับระดับเหนือขึ้นไปได้ ว่าเขาทำกันอย่างไร จะได้ได้หน้า :D
- ทำจริง จะจ้างจริงๆ แต่ขั้นตอนการดำเนินงานต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย อาจจะมีการเรียกประชุม คุยกันน้ำท่วมทุ่ง (แต่ก็ยังไม่ทำการสั่งจ้าง) ใช้เวลาไปกับการประชุมประหนึ่งว่าจ้างเราแล้ว จะให้ทำโน้น ทำนี่ หรือดำเนินทำอะไรๆ ออกมาให้เขาก่อน ซึ่งถ้าเจอแบบนี้ผมคิดว่าก็ต้องบอกเขาตรงๆ ละครับ ว่า Limit เราแค่ไหน เพื่อไม่ให้ ต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงเวลาของเราต้องเสียไปมากกว่านี้
จากที่ผมเล่ามาจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนของการ ทำเสนอราคา หรือ การนำเสนอ Solution นั้น มันมีต้นทุนที่เราต้องเสียไป ที่ต้องระดมสมองในการคิดวิเคราะห์วิธีการและรูปแบบในการ Implement ออกมาเพื่อให้นำไปใช้งนได้จริง ในต่างประเทศการทำ Proposal เสนอการแก้ไขหรือแผนการพัฒนาอะไรใหม่ออกมาก็ตามลูกค้าก็จะต้องเสียเงินค่าทำในลักษณะของการจ้างที่ปรึกษา ส่วนจะจ้างให้ทำออกมาตามแผนและรูปแบบที่นำเสนอนั้นด้วยหรือไม่ก็จะอีกขั้นตอนหนึ่ง ครับ หลังจากที่จบขั้นตอนการนำเสนอ แล้วเราปิดการขายได้ สิ่งที่ลูกค้าจะกังวลหรือเป็นห่วงมากที่สุดคือ เราจะทำงานได้ทันไหม แต่เท่าที่ทำมาตลอดหลายปี ปัญหาจะอยู่ที่ข้อมูลลูกค้าไม่เคยพร้อม Content ไม่มี รูปประกอบไม่มี หรือกว่าจะสรุปรูปแบบเว็บได้ อาจจะต้องรอทางเขาเป็นเดือนๆ ล่าสุดเพิ่งเจอมาอีก เรียกเข้าไปคุยวันพฤหัสเย็นๆ อยากจะทำเว็บโครงการ อยากให้ออกแบบเว็บมาให้ดูเลยในวันรุ่งขึ้น เพื่อเขาจะได้เอาไปโชว์ในที่ประชุม แต่งบประมาณยังไม่มี เนื้อหาที่จะมีในเว็บก็ยังบอกได้ไม่ชัด จะให้ทำเสนอราคาพร้อมกับรูปแบบเว็บไปให้ เราก็ต้องหาทางออกด้วยการ ขอข้อมูล SiteMap เขาว่าต้องการให้มีอะไรบ้างในเว็บ ซึ่งถ้าไม่ส่งมาให้ก็ไม่ดำเนินการใดๆ ต่อ ถ้าต้องการให้รีบฝั่งเขาก็ควรต้องรีบด้วยเช่นกัน ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ มาร์เวลิค เอง ก็ต้องปรับตัวเลือกที่จะรับงาน และหัดปฏิเสธงาน ที่คิดว่าจะทำให้เราเสียเวลา ในการที่เราจะเดินไปสู่เป้าหมายของการพัฒนา Extensions ขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เราช้ากว่าที่เราตั้งเป้าไว้ 2 เดือนแล้ว สิ้นเดือน ก.ค.นี้เราควรจะต้องขึ้นเว็บไซต์พร้อมที่จะขายสิ่งที่เราพัฒนาออกไปยังตลาดต่างประเทศ จะได้หยุดรับงาน Implement ภายในประเทศ เอาเวลามาพัฒนาอะไรใหม่ๆ ออกมาดีกว่า :)