เริ่มต้นด้วย Meeting เล็กๆ และเป็นงานฟรี
หลังจากที่เรามีเว็บไซต์เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว ผมเองหลังจากที่ทำเว็บไซต์เองอยู่คนเดียว ก็เปิดให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วม เปิดพื้นที่บนเว็บเว็บไซต์ให้สมาชิกที่ อยากมีส่วนร่วม อยากเห็นว่าเว็บไซต์ควรมีข้อมูลอะไร ประมาณไหน เข้ามาช่วยกันพัฒนา ช่วยกันทำ เหมือนยกเว็บที่ทำให้เป็นของสมาชิกด้วยเลย ก็นัดหมายสมาชิกที่สนใจ และ Active มานั่งคุยกัน ก็ตามร้านกาแฟครับ ไม่เกิน 10 คนมานั่งคุยกันคงไม่มีปัญหาอะไร หาที่นั่งก็คงไม่ยากนัก กลุ่มของคนที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ ก็เป็นเพียงกลุ่มหนึ่ง ที่จะเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเว็บไซต์หรือชุมชนนี้แทนที่จะเป็นเราคนเดียว ที่ทำ เพราะเป็นงานฟรี ไม่ได้มีรายได้จากการทำเว็บคอมมูนิตี้ ทำสนุก ทำเอามันเข้าว่า
นอกจากจัดเป็น Meeting เพื่อคุยกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือการช่วยกันพัฒนาร่วมกันแล้ว อีกลักษณะหนึ่งที่จะเห็นกันสำหรับคอมมูนิตี้ ที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ นั่นก็คือมาเจอกันเพื่อสอนหรือเป็น Workshop การใช้งานเบื้องต้น เพื่อให้สมาชิกในเว็บมีความเข้าใจง่ายขึ้น ไม่ต้องเตรียมเอกสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ใดๆ ต่างคนต่างเอาของตัวเองมา อาหารการกินก็ซื้อกันเอง จะเผื่อแผ่ให้คนโต้โผบ้างก็แล้วแต่น้ำใจของคนที่มาร่วมงาน งานลักษณะนี้ก็จะสร้างความรู้สึกดีๆ ความสนิทสนมกันในหมู่สมาชิกของเว็บไซต์ วิธีการนี้ ก็จะเหมาะกับการเริ่มต้นของเว็บไซต์ในระยะแรกๆ ครับ แต่อย่างไรเสียโต้โผใจการจัด Meeting แต่ละครั้ง ก็ต้องเสียสละเวลาของตัวเองในการนำทำกิจกรรม ซึ่งถ้าสมาชิกในชมรมไม่มีใครอาสาขึ้นมาผลัดกันเป็นผู้นำ โต้โผลหลักก็คงเหนื่อยไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ลองดูภาพประกอบข้างล่างนี้ น่าจะพอได้ไอเดีย อารมณ์ของการจัด Meeting ง่ายๆ ในระยะเริ่มต้นกันได้
ในการจัด Meeting หรือ Event ฟรี สิ่งที่ต้องเผื่อไว้ก็คือ เมื่อถึงวันจัดงาน อาจจะมีคนมาน้อยกว่าที่แจ้งไว้ หรืออาจจะมากันแบบล้นสถานที่เลยก็ได้ ทำให้ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ว่าคนจะมากหรือน้อย ถึงแม้จะมีการลงชื่อแจ้งความจำนงค์กันไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วก็ตาม
งานอบรม WorkShop แบบเป็นทางการ
หลังจากที่ Meeting อบรมแบบไม่เป็นทางการแล้ว กิจกรรมต่อจากนั้นก็จะเป็นการจัด Workshop แบบเต็มรูปแบบ ก็จะมีทั้งแบบไปเป็นวิทยากรให้เขาฟรีๆ หรือแล้วแต่เขาจะให้ สำหรับงานที่เป็นงานออกไปแนวการกุศล ตามสไตล์ของคนทำ Open Source อยู่แล้ว ซึ่งถ้าต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ส่วนใหญ่คนจัดเขาก็จะดูแลเรื่องค่าเดินทาง ค่าที่พักให้เรา อย่าให้ถึงกับเราต้องลงแรงแล้วต้องควักเงินส่วนตัวอีก ซึ่งงานแบบนี้เรียกว่างาน "กล่อง"
จากการไปเป็นวิทยากรหรือไปอบรมให้กับคนที่เขาดำเนินการจัดการเรื่องครอสอบรมแล้ว หากเราเข้มแข็งพอก็จะมีในส่วนของการจัดครอสอบรมเอง ดูแลเองทุกอย่าง ตั้งแต่การ PR (ก็ผ่านเว็บเรานั่นแหล่ะ) เช่าเครื่อง-สถานที่ อาหาร-เครื่องดื่ม การเก็บเงินและเรื่องออกบิลล์ใบเสร็จต่างๆ ซึ่งจะทำครบได้แบบนี้ คงต้องต้องจัดตั้งเป็นนิติบุคคลก่อน บริษัท มาร์เวลิค เอ็นจิ้น เองก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากจุดนี้เหมือนกัน ในการจัดอบรมครอสอบรมก็จะมีทั้งแบบจัดในสถานที่ ที่เราเป็นคนจัดเตรียม และ อบรมแบบ In-House (ลูกค้าเป็นคนเตรียม) เราก็ต้องเตรียมหลักสูตร และเขียนคู่มือ รวมทั้ง สไลด์ ประกอบการบรรยายในแต่ละหลักสูตร ปัจจุบัน มาร์เวลิค เองก็ขยายหลักสูตร นอกจากการจัดเองแล้ว ก็ไปร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น NetDesign , NecTecAcademy การอบรมร่วมกับที่อื่นก็แล้วแต่ Due ครับ (กับเอกชนด้วยกันจะได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดมากกว่า)
ธุรกิจการเปิดอบรมนั้นเป็นเพียงบริการหนึ่งสามารถสร้างรายได้จากซอฟท์แวร์โอเพนซอร์ส ได้ทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทางอยู่รอดที่จะเลี้ยงตัวบริษัทให้อยู่ได้โดยไม่ต้องทำอย่างอื่น โดยเฉพาะเมื่อเราเองเป็นทีมพัฒนาและเปิดอบรมเพื่อถ่ายทอด โดยมุ่งหวังให้ผู้มาเรียนนั้นได้นำกลับไปใช้งานได้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนๆ หรือเขียนหลักสูตรให้ดูน่าเข้าเรียน โดยใส่เนื้อหาเข้าไปมากมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาและความเป็นไปได้ของผู้เรียน ที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น และนำกลับไปปฏิบัติได้จริง ก็คงไม่สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ในธุรกิจนี้ได้นานๆ
ในมุมกลับกันหากธุรกิจการอบรมการสร้างคนป้อนกลับเข้าไปในตลาด อาจจะกลายเป็นดาบ 2 คนได้เช่นกัน (สำหรับในประเทศไทย) ที่เราอาจจะเจอคู่แข่งส่งคนมาเรียน และคนเรียนก็ไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมของโอเพนซอร์ส แค่มาเรียนตามที่นายสั่ง เพื่อกลับไปรับทำเว็บ ราคาถูกๆ ตัดราคา อะไรที่ทำไม่ได้ก็จะโทษที่ตัวซอฟต์แวร์ แทนที่จะโทษตัวเองว่าความรู้ยังไม่พอที่จะพัฒนาต่อยอดมัน ในต่างประเทศบริษัทที่นำโอเพนซอร์สไปใช้งาน เขาจะ Contribute กลับไปยังผู้พัฒนา หรือโปรเจคที่เขาได้หยิบไปใช้งาน เคารพในลิขสิทธิ์ และให้ Credit กับคนพัฒนา รวมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยแบ่งจากกำไร ที่ตนเองบวกเข้าไปในโปรเจคที่ทำให้ลูกค้า ให้กับทีมพัฒนา เพื่อจะได้มีแรงในการพัฒนาสร้างสรรสิ่งใหม่ออกมาได้ มาร์เวลิคเองก็ Contribute ให้กับโครงการโอเพนซอร์ส ออกมาในหลายๆ ทาง ทั้งการร่วมพัฒนาโค้ด พัฒนาตัวเสริม จัดงาน event เพื่อโปรโมท โดยใช้แรงงาน และ งบส่วนตัวมาทำ เพื่อตอบสนองความสุขของตัวเอง ที่อยากทำโอเพนซอร์ส ล่ะครับ
ในส่วนของการจัดงาน Event อย่าง JoomlaDay ผมขอหยิบยกไปคราวหน้าครับ ว่าเบื้องหลังทำกันมาอย่างไรบ้าง