พื้นเพผมแต่เดิมเริ่มแรกผมเริ่มทำงานเขียนโปรแกรม ระบบธุรกิจต่างๆ (Inventory, AR, AP, ERP ) ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น Dos ใช้ Server เป็น Netware (ย้อนหลังไปก็ประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว) ผมอยู่ในธุรกิจของ Software House มา 7 ปี เริ่มจากตำแหน่ง Junior Programmer มาสุดท้ายที่ System Analyst ก่อนจะเปลี่ยนงานมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ของบริษัทในเครือ CDG เพราะเบื่องานพัฒนาซอฟต์แวร์ขายที่ต้องแก้โค้ดให้กับลูกค้าทุกราย แทนที่บริษัทต่างๆ จะสามารถใช้เป็น Package เหมือนกันได้ (ยุคนั้น AccPac , บิสิเนสพลัส ยังไม่เกิด) ประกอบกับผมอยาก เรียนรู้ว่าบริษัทใหญ่ๆ เขาทำงานกันอย่างไร ผมไปเขียนใบสมัคร โดยที่เรียกเงินเดือนต่ำๆ ต่ำกว่าเงินเดือนล่าสุดที่ผมได้จากบริษัทเก่า ก่อนที่ผมจะลาออกด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ได้ไปสมัครที่ไหน ประสบการ์ณการสมัครงานผมจึงมีน้อยมากครับ ผมก็ตกงานรอ โดยได้รายได้จากการรับเขียนโปรแกรมเล็กๆ น้อยๆ 3 เดือนผ่านไปเขาก็เรียกผมไปสัมภาษณ์ ว่าผมทำอะไรมาบ้าง เขาก็รับพร้อมกับให้เงินเดือนมากกว่าที่ผมขอ โดยบริษัทที่ผมสังกัดเป็นธุรกิจขายส่งเป็น 1 ใน 3 ของ ดิสทริบิวเตอร์ในประเทศไทย บริษัทดิจิแลนด์ ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง CDG กับ GES ประเทศสิงคโปร ผลิตและจำหน่วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ยี่ห้อ Datamini พอมายุคที่ฟองสบู่แตก บริษัทดิจิแลนด์ ก็เพิ่มทุนและถือหุ้น 100% โดย GES สิงคโปร เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำหรับผมเช่นกัน เอกสารภายในทั้งหมด จะต้องเป็นภาษาอังกฤษ มีโอกาสไปอบรมที่สิงคโปร ต้องใช้ชีวิตในต่างแดนคนเดียวในแต่ละครั้งก็เป็นสัปดาห์ (ท่านที่กลัวฝรั่ง กลัวภาษาอังกฤษ คงจะเข้าใจความรู้สึกผม)
ที่ดิจิแลนด์ นี่แหล่ะที่เป็นที่ๆ ผมได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายเพราะผมเองคุมแผนก EDP (MIS) เจ้านายที่อยู่เหนือผมก็เป็น MD ละครับ การปรับปรุงระบบไอที ต่างๆ รวมถึงงบประมาณด้านในไอทีในองค์กร ก็จะเป็นผมที่จะดูความจำเป็น ความเหมาะสม พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบ ก่อนที่เสนอให้เจ้านาย ผมทำงานอยู่ที่นี่ประมาณ 11 ปี ซึ่งงานในแผนก EDP ก็ทำให้ผมมีเครื่องมือให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มี Internet ให้ใช้ นี่แหล่ะครับห้องสมุดขนาดใหญ่ของผม ได้เพื่อนจาก ICQ , MSN และเข้ามาสู่การทำเว็บไซต์ เมื่อก่อนเครื่องมือก็เป็น Netscape ละครับ
เว็บแรกของผมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วก็คือ Fire2Rescue.com เว็บเกี่ยวกับอาสาสมัคร กู้ภัย ดับเพลิง แล้วก็ไปอาสาขอทำเว็บให้กับกองบังคับการตำรวจดับเพลิงด้วย และเข้ามาร่วมกับชมรมไทยเว็บมาสเตอร์ ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน ของชมรมฯ ด้วย ในช่วงที่ทำงานอยู่ดิจิแลนด์นั้น ผมก็เกิดอยากจะทำเว็บของบริษัทขึ้นมาด้วยก็เลยค้นหา Open Source ช่วงนั้นตัวที่ดังๆ อยู่ ก็มี PostNuke , PHPNuke แต่พอติดตั้งแล้ว อารมณ์มันไม่ได้ครับที่จะเป็น Corporate Website พอดีไปเจอ Mambo พอโหลดมาลงครั้งแรกที่เห็น ก็ชอบเลย อารมณ์มันได้แบ่งพื้นที่การทำงานไว้ชัดเจน ก็เริ่มแกะ Code ครับโดยเฉพาะส่วนที่มีปัญหากับการแสดงผลภาษาไทย พอทำคนเดียวมันก็ไม่สนุกครับ ค้นหาเว็บในไทยก็ไม่เจอ ก็เลยตั้งเว็บ MamboHub.com ออกมาก็เริ่มให้ข้อมูลต่างๆ รวมถึงพัฒนาโมดูลง่ายๆ โดยดูจาก CMS ตัวอื่น ว่ามีอะไร แล้ว Mambo ยังไม่มี ทำเสร็จก็ส่งไปให้เว็บ MamboServer ที่เมืองนอก เขาก็เอาขึ้นหน้าเว็บเขามีชื่อเราจากประเทศไทย อยู่บนนั้น มันดีใจครับ
ผมก็ใช้เวลาหลังเลิกงาน วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เข้ามาขลุกอยู่ที่บริษัท เพราะห้องผมเป็นห้องเดียวที่มีแอร์เปิด ตลอด 24 ชั่วโมง ก็นั่งเรียนรู้ ลองโน่น ลองนี่ไปเรื่อย เมล์คุยกับฝรั่งบ้าง (มีความกล้าจากการที่ ต้องใช้ภาษาอังกฤษคุยกับบริษัทแม่ในสิงคโปร) จนมีโอกาสได้เปิดอบรมแมมโบ้ ในนามของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย รายได้ทั้งหมดก็เข้าสมาคม การอบรมครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวงการ ในเรื่องของการคิดราคาค่าอบรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็ว่าได้ ซึ่งหลักสูตรที่ทำก่อนหน้านี้คือ PostNuke 1 วันเก็บ 500 บาท เลี้ยงข้าวเลี้ยงกาแฟ และมีคู่มือด้วย ซึ่งจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายได้ต้องมีคนอบรมจำนวนมาก (คนสอนและผู้ช่วยก็ทำฟรี) ผมเห็นโรงเรียนสอนทำเว็บที่อื่นๆ เขายังเก็บได้ 8-9 พันบาทก็ยังมีคนเรียน จึงเสนอว่าเราน่าจะลองเก็บที่ 2,500 บาท ( 1:5) ไม่ต้องมีคนมาก ถ้าของเดิมต้องมี 50 คน ราคานี้มี 10 คนก็ได้เท่ากัน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันคนที่ไม่แน่ใจว่าจะมีคนยอมจ่ายเหรอ ก็คือ ป้อม (ภาวุธ แห่ง ThaiSecondhand.com) พอเปิดอบรมเราก็เห็นว่าคนก็ลงทะเบียนมาเรียนเต็มห้องเช่นเดิม ราคาค่าอบรม 1 วันจึงกลายเป็นเหมือนราคามาตรฐานไปโดยปริยาย อ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่าผมทำโอเพนซอร์สแมมโบ้มาเงินยังไม่เข้าผมสักบาท ผมคงอาการเหมือนหลายๆ ท่านที่ทำโอเพนซอร์สครับ คือ
มีเงินเดือนประจำเป็นรายได้อยู่แล้ว ตรงส่วนโอเพนซอร์สและเว็บไซต์จึงเหมือนทำเพราะสนุกกับมัน ที่ได้เรียนรู้ และได้เพื่อนมากมาย
การเปิดอบรมหารายได้ให้สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยนั้น ก็ทำให้ผมเห็นโอกาสก็ชวน นุ่น (@iamnadia) ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็น Marketing Manger อยู่บริษัทในเครือดาต้าแมท มาคุยเรื่องเปิดบริษัทมารองรับงานฝึกอบรมที่ต้องออกใบเสร็จให้กับผู้เข้าอบรม นุ่นก็ไปดำเนินการจดทะเบียนบริษัทมาโดยมีบ้านที่นนทบุรี เป็นสถานที่จดทะเบียน ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ต้องมี Office เราใช้เว็บไซต์เป็นหน้าร้าน เปิดอบรมในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งกว่าจะเริ่มเปิดอบรมได้ต้องรอไปประมานครึ่งปีได้ เนื่องจากผมติดเรียน MSCE วันเสาร์อาทิตย์ พอจบครอสปั๊ปก็เปิดอบรมรุ่นแรกทันที แปลกไม๊ละครับเสียเงินเรียน Microsoft 5-6 หมื่นบาท แล้วก็มาทำ Open Source มาร์เวลิคเปิดอบรมโดยเช่าห้องคอมพิวเตอร์ที่อาคารชินวัตร 3 รุ่นนึงก็จะมีคนเข้าอบรม 30-50 คน ทำแบบนี้มาน่าจะราวๆ 1 ปีโดยที่เราไม่ต้องมี Office ได้เพื่อนๆ เราอย่าง ป้อม ThaiSecondhand ช่วยแป่ะโฆษณาให้ที่หน้าเว็บ (เดี๋ยวนี้คงแปะกันง่ายๆ ไม่ได้แล้ว ต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย) ก็ถึงเวลาที่เราน่าจะต้องมีคนนั่งประจำที่ Office แล้วล่ะ เราก็ไปคุยกับพี่กิติวัฒน์ Hostpacific พี่เขาก็ใจดีครับเห็นเราตั้งใจแล้วก็เห็นเราทำงานในสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยมานาน ก็ลงหุ้นในบริษัทมาร์เวลิค และแบ่งพื้นที่ Office ในบริษัทแปซิฟิค เน็ทเวนเจอร์ ให้เราไปอาศัยอยู่ รุ่นแรกก็มี นุ่น (@iamnadia) , เชอร์รี่ (ปัจจุบันขายหุ้นและไปทำอย่างอื่น), เอิร์ท (@jiraz) , พิศาล (@lungkao) ส่วนผมยังทำงานอยู่ที่เดิมและรับผิดชอบงานในบริษัทใหม่ที่เจ้านายเพิ่งเปิดใหม่ด้วยได้เงินเดือนทั้ง 2 บริษัท ส่วนมาร์เวลิคนั้นผมแค่แวะเวียนเข้ามานั่งคุยงานด้วยบางครั้ง เนื่องจาก Office ดิจิแลนด์กับตึกนี้ก็ไม่ได้ไกลกันนัก ซึ่งตอนนี้เองเราก็เริ่มรับงาน Implement เว็บไซต์ ซึ่งส่วนใหญ่งานก็จะมาจากลูกศิษย์เราที่มาเรียนนี่แหล่ะ ปัจจุบันนี้มาร์เวลิค ก็ยังไม่มี Sale อยู่ดี งานที่เรารับก็มีทั้งงานการกุศล และงานจ้างทำในราคาถูกๆ เหมือนต้องการสะสมผลงาน ซึ่งถ้าลองมองกลับไปแล้วเราอาจจะไม่ได้มีกำไรเลยก็ได้ จากการประสานงาน จากเวลาที่ต้องเสียไปทั้งหมด ผมว่าหลายๆ คนก็คงเริ่มคล้ายๆ ผม คือการสะสมผลงาน เพื่อจะได้ไปอวด รายใหม่ๆ ได้ว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง ต้องบอกงาน Implement ก็แค่เพื่อหารายได้มาจ่ายเงินเดือนของพนักงานประจำ โดยจุดมุ่งหมายของเรา ที่มาเปิดบริษัท ก็เพื่อต้องการที่จะได้ทำโอเพนซอร์ส แบบจริงๆ จังๆ มีเวลาคิดอะไรใหม่ๆ ได้ด้วย ทำคอมมูนิตี้ ก็คิดว่าถ้าเราทำดีๆ อาจจะมีคนบริจาคสนับสนุนค่าใช้จ่าย คนละนิดละหน่อย หลายๆ คนเข้า ก็น่าจะอยู่ได้ แต่มันยังไม่เคยเกิดขึ้นเราจึงต้องสาละวนอยู่กับการ Implement เว็บไซต์ในราคาถูกต่อไป จนวันนึงหุ้นส่วนของเรา พี่วัฒน์ ซึ่งน่าจะผ่านการรับทำเว็บมาก่อนหน้าเรามา ก็ถามเราว่า
Q.ทำเว็บราคาถูกๆ เพื่ออะไร?
A.สะสมผลงาน จะโชว์ลูกค้ารายใหม่ๆ ที่เข้ามาได้
Q.แล้วลูกค้าแต่ละราย เคยทำเว็บเหมือนกันไหม?
A. ไม่เคยเหมือน เวลาทำงานก็ต้องทำตาม Requirement ของเขา ตามใจเขา เหมือนแค่เรารับจ้างเขียน ตามที่เขาอยากได้
Q.ลองเทียบดูว่า เนื้องาน เราเหนื่อยน้อยกว่ากันไหม กับการรับเว็บราคาถูก ?
A.ความยุ่งยาก ในการทำเว็บให้คนไทย เหนื่อยและยุ่งยากไม่ต่างกัน และ ผลงานก็แทบไม่มีผลใดๆ ในการตัดสินใจ อยู่ที่การนำเสนอของเรามากกว่า
จากคำถามคำตอบด้านบน ก็เลยทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยคำนวนจาก Manday ระยะเวลาของคนที่ต้องทำตามเนื้องาน รวมถึงเอาปัจจัยของรอบการเก็บเงินมาเกี่ยวข้องด้วย เราอยู่ในห้องเล็กๆ นี้ประมาณเกือบๆ 2 ปีได้ ในระหว่างนี้ก็มีคุณศุภชัย (@supachai_chai) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ แมมโบ้กับเราแล้วก็ไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ในส่วนของการสร้าง Template แล้วก็ร่วมแปลภาษาไทยให้กับ component ออกมาเป็น DocMan LaiThai เวลาจัด Meeting ต่างๆ ก็มาร่วมด้วยเสมอ งานประจำที่คุณชัยทำอยู่เป็นงาน AutoCAD เขียนแบบตู้แอร์ (งง ใช่ป่ะครับไม่เห็นเกี่ยวกันเลย) ผมเลือกคนจากที่เขามีใจอยากทำ Open Source ครับ เพราะมันคือเป้าหมายของการตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา เขียนมาเสียเยิ่นยาว ก็ยังไม่ถึงตอนที่ผมลาออกมาทำงานที่มาร์เวลิค เต็มตัวซะที :) เอาไว้ตอนหน้าแล้วกันครับ จะได้เล่าถึงงานคอมมูนิตี้ด้วยเลย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ถอดหัวใจนักพัฒนา CMS คนไทย หนึ่งในทีมงานพัฒนาระดับโลก (บทความเก่าจากไทยรัฐ ปี 2546)
- อัครวุฒิ ตำราเรียง แห่งแมมโบ้ฮับ ผู้ร่วมผลักดัน CMS และโอเพนซอร์สไทย (บทความเก่าจาก นิตยสาร e-Commerce)